วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553


คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว
แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธฝ่ายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
แจมิได้แปลว่า อุโบสถ
ในภาษาจีนมี(กลุ่ม)คำหรือวลีที่ใช้อักษรแจ(เจ, 齋 / 斋 )เป็นตัวประกอบร่วมด้วยหลายคำ แต่คำว่าโป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) ซึ่งเป็นศัพท์ของทางพุทธศาสนา ดูจะเป็นคำที่นิยมหยิบยกมาใช้อธิบายความหมายของอักษรแจเสมอมา
โป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒 ) แปลว่า ศีลบริสุทธิ์แปดประการ ซึ่งก็คือ “ศีลแปด”ที่เรารูจักกันดี
คนไทยในรุ่นปู่ย่าตายายที่เคร่งในศีลวัตรจะไปอาราธนาศีลแปดจากพระสงฆ์ในวันธรรมสวนะภายในพระอุโบสถ ศีลแปดจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ อุโบสถศีล ”
ผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องกินเจที่ไม่เข้าใจภาษาและที่มาของคำจึงแปลอักษรแจผิดว่า “อุโบสถ” ซึ่งคำแปลนี้ก็ฮิตติดตลาดและถูกคัดลอกไปใช้บ่อยอย่างน่ารำคาญใจ เพราะหากจะเอาตามความในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานแล้ว
อุโบสถ เป็นคำนาม หมายถึง สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทำสังฆกรรมต่างๆ เรียกย่อว่า โบสถ์
การแปลและเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าวยังถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการอธิบายวัตรปฏิบัติของการกินเจผิดตามไปด้วยว่า “การกินเจต้องถือศีลข้อวิกาลโภชน์” หรือการงดกินของขบเคี้ยวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ซึ่งเป็นศีลข้อหนึ่งในศีลแปด ทั้งๆที่โรงครัวของศาลเจ้าหรือโรงเจที่เปิดเลี้ยงผู้คนในช่วงเทศกาลกินเจล้วนแต่มีอาหารมื้อเย็นให้กับผู้เข้าไปกิน ยิ่งวันที่มีการประกอบพิธีกรรมในตอนค่ำยังมีอาหารมื้อค่ำบริการเสริมให้เป็นพิเศษด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงเทศกาลกินเจนั้นเขาถือเพียงศีลห้าที่เป็นนิจศีล ไม่ได้ครองศีลแปดอย่างที่หลายคนเข้าใจ (เว้นแต่ผู้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะครองศีลแปดเป็นการส่วนตัวเท่านั้น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น